ตายแล้วไปไหน ชาติหน้ามีจริงหรือไม่

เชื่อหลายท่านมักจะมีคำถามให้กับตัวเองอยู่เสมอว่าเมื่อมนุษย์เรานั้นสิ้นอายุขัย ตายแล้วไปไหน ชาติหน้ามีจริงหรือไม่ ข้อมูลดังต่อไปนี้เป็นบทความจากกระดานสนทนาวัดบางพระ ซึ่งบทความบางส่วนนนี้ได้เขียนไว้โดยสมาชิกชื่อ ลูกผู้ชายตัวจริง เมื่อวันที่ 01 มี.ค. 2550 หวังว่าจะเป็นข้อมูลที่สามารถตอบคำถามให้แก่ตัวท่านเองได้บ้างไม่มากก็น้อย
ตายแล้วไปไหน ตายแล้วเกิดหรือไม่
ในครั้งพุทธกาลเคยมีคนไปทูลถามพระพุทธเจ้าว่า สัตว์ที่ตายแล้วจะเกิดอีกหรือไม่ พระองค์ไม่ทรงตอบว่าตายแล้วเกิดหรือสูญ เพราะในยุคนั้นความเห็นของคนเกี่ยวกับเรื่องความตายมี ๒ จำพวก คือ พวกหนึ่งเห็นว่าตายแล้วเกิด เรียกว่า สัสสตทิฏฐิ อีกพวกหนึ่งเห็นว่าตายแล้วสูญ เรียกว่า อุจเฉททิฏฐิหากพระองค์ตรัสอย่างใดอย่างหนึ่งก็จะไปพ้องกับลัทธิความเชื่อของฝ่ายนั้นๆ ไป แต่พระองค์จะตรัสเป็นกลางๆ ว่า จะเกิดหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย หากมีปัจจัยเป็นเหตุให้เกิดก็ต้องเกิด ถ้าหมดเหตุปัจจัยก็ไม่เกิด ส่วนผู้ที่ตายแล้วไม่ต้องเกิดอีก เพราะได้เข้าถึงสภาวะที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดอีก ได้แก่พระอรหันต์จำพวกเดียวเท่านั้น นอกนั้นต้องเกิดใหม่ทั้งหมด ส่วนจะไปเกิดเป็นอะไรค่อยมาว่ากันในตอนท้ายเพราะฉะนั้น หากสมมุติว่ามีใครมาด่าว่าเราว่า ขอให้ตายอย่าได้ผุดได้เกิดเลย ก็จงอย่าโกรธเคืองหรือโต้ตอบเขา ให้คิดว่านั่นคือคำให้พรและให้ยกมือสาธุพร้อมกล่าวว่า ขอให้เป็นจริงเถอะ เพราะผู้ที่ตายแล้วไม่เกิดมีบุคคลจำพวกเดียว คือ พระอรหันต์
เมื่อตายแล้วเกิดทันทีหรือล่องลอยเป็นสัมภเวสีหาที่เกิดอยู่
ตามความรู้สึกของคนทั่วไปมักเชื่อว่า คนที่ตายแล้ววิญญาณออกจากร่างและวิญญาณนั้นจะล่องลอยไป เพื่อแสวงหาที่เกิดใหม่ ในระหว่างนี้เรียกว่าเป็นสัมภเวสี ต่อเมื่อเวลาล่วงไปได้ ๗ วัน จึงจะได้เกิด ตามความเชื่อเป็นเช่นนี้ ถ้าจะว่ากันตามหลักพุทธศาสนาแล้ว ช่องว่างระหว่างจุติจิตกับปฏิสนธิจิตนั้น เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมาก ตามธรรมชาติของวิถีจิตมันเป็นเช่นนั้น จึงเท่ากับว่าคนที่ตายแล้วจะต้องเกิดทันที ส่วนจะเกิดเป็นอะไรนั้นขึ้นอยู่กับกรรมที่จะเป็นชนกกรรมอยู่ในจุติจิตจะชักนำไปเกิด ส่วนคำว่า สัมภเวสี นั้น แปลว่า ผู้แสวงหาภพ หมายถึง สัตว์ที่รอคอยการปฏิสนธิอันแน่นอน โดยเฉพาะคือ บุคคลและสัตว์ทั่วไป จนถึงพระอนาคามีบุคคลเป็นที่สุด โดยมีคำอธิบายเป็น ๒ นัย ดังนี้
๑. หมายเอาคน สัตว์ เทวดา เป็นต้น จนถึงพระอนาคามี ซึ่งท่านเหล่านี้ยังต้องเกิดอีกจะน้อยหรือนานเพียงไหนขึ้นอยู่กับการละกิเลสที่แต่ละคนละได้เพียงไร
๒. หมายเอาสัตว์ที่ตายแล้ว ไปเกิดในภูมิใดภูมิหนึ่ง เช่น เป็นสัตว์นรกเสวยวิบากกรรมจนครบแล้ว กำลังรอคอยการเกิดใหม่ เช่น จะไปเกิดเป็นสัตว์ แต่ยังไม่ถึงฤดูที่สัตว์เหล่านั้นผสมพันธุ์ ปฏิสนธิวิญญาณดวงนั้นก็ยังไม่เกิด จนกว่าจะได้ปัจจัยพร้อมมูลจึงได้เกิด
ลักษณะกำเนิดของสัตว์
ไม่ว่ามนุษย์หรือสัตว์โดยทั่วไป เมื่อตายหรือละสังขารจากอัตภาพนั้นๆ แล้ว หากมีปัจจัยที่จะต้องเกิดก็ต้องไปเกิดในภพใดภพหนึ่งในกำเนิดทั้ง ๔ คือ
๑. ชลาพุชะ เกิดในครรภ์ เช่น คนหรือสัตว์บางประเภท
๒. อัณฑชะ เกิดในไข่ เช่น ไก่ นก เป็ด เป็นต้น
๓. สังเสทชะ เกิดในของสกปรก เช่น หนอนบางชนิด
๔. โอปปาติกะ เกิดโดยผุดขึ้นเป็นตัวตนเลย เช่น เทวดา สัตว์นรก เปรต อสุรกาย หรือ พรหม เป็นต้น
ภูมิที่จะไปเกิด
คราวนี้มาถึงประเด็นสำคัญของคำถามที่ว่า ตายแล้วไปไหน หากไม่ตอบเล่นสำนวนเหมือนที่พูดกันว่า “ตายแล้วก็ไปวัดนะซี” ก็ต้องขอยกเอาพระพุทธพจน์ที่ตรัสเกี่ยวกับการเกิดของสัตว์มาอ้าง ดังนี้ “ภิกษุทั้งหลาย สัตว์บางจำพวกในโลกนี้ย่อมเกิดในครรภ์ บางจำพวกทำกรรมลามก ย่อมเกิดในนรก บางจำพวกทำกรรมดีแล้ว ย่อมเกิดในเทวโลก ส่วนผู้ไม่มีอาสวะ ย่อมปรินิพพาน” ดังจะขอแยกประเภทของภพภูมิใหญ่ๆ ที่สัตว์จะไปเกิดให้เห็นชัดๆ คือ
๑. นรก ไปเกิดเพราะอำนาจของโทสะ
๒. เปรตและอสุรกาย ไปเกิดเพราะอำนาจของโลภะ
๓. สัตว์เดรัจฉาน ไปเกิดเพราะอำนาจของโมหะ
๔. มนุษย์ ไปเกิดเพราะรักษาศีล ๕ และกุศลกรรมบถ ๑๐
๕. เทวดา ไปเกิดเพราะมหากุศลจิต ๘ ดวง อันประกอบด้วย หิริ และโอตตัปปะ เป็นต้น เช่น การบริจาคทาน การฟังธรรม หรือการสร้างสิ่งที่เป็นสาธารณประโยชน์ เป็นต้น
๖. พรหม ไปเกิดเพราะการเจริญฌาน ในอารมณ์ของกรรมฐาน ๔๐ มีการเพ่งกสิณ เป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นอารมณ์
การที่จะทราบว่าคนที่ตายจากอัตภาพนี้ไปเกิดในภูมิไหนนั้น จึงขึ้นอยู่กับชนกกรรมในขณะจุติจิต เช่น จิตประกอบด้วยโทสะก็ไปนรก ประกอบด้วยโลภะก็ไปเป็นเปรต อสุรกาย เป็นต้น โดยมีพุทธพจน์รองรับเกี่ยวกับวาระจิตขณะจุติจิตเกิดขึ้นว่า จิตเต สังกิลิฏเฐทุคคติ ปาฏิกังขา เมื่อจิตเศร้าหมองแล้ว ทุคติเป็นที่หวังได้ และจิตเต อสังกิลิฏเฐ สุคคติ ปาฏิกังขา เมื่อจิตไม่เศร้าหมอง สุคติภพเป็นที่หวังได้ เพราะฉะนั้น สิ่งสำคัญจึงอยู่ที่ก่อนจะตายว่าจิตเศร้าหมองหรือผ่องใส จึงไม่แน่นอนเสมอไปว่า คนที่สร้างกรรมดีมาจะไปสู่สุคติ หรือคนที่สร้างกรรมชั่วจะไปทุคติสถานเดียว
ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับวาระจิตก่อนจะดับเป็นเกณฑ์ว่า เศร้าหมองหรือผ่องใส ถึงกระนั้น คนที่สร้างกรรมดีมามากแม้จะตายด้วยจิตที่เศร้าหมองแล้วไปทุคติ ก็อาจไปเสวยทุกข์ไม่นาน ผลแห่งกรรมดีย่อมให้ผลเป็นสุคติภพในภายหลัง และหลักความจริงอีกอย่างหนึ่งคือว่า เมื่อจิตเคยเสพคุ้นคุณความดีอย่างใดมาตลอดชั่วชีวิตก็อาจเป็นแรงชักนำไปในทางดีหรือปิดกั้นอกุศลอื่นๆ มิให้เกิดขึ้นได้ ส่วนผู้ที่สร้างความชั่วพึงทราบในทางตรงข้าม
ทำไมคนตายจึงไม่มาบอกญาติที่อยู่ข้างหลังว่าอยู่ในภพภูมิไหน สุขหรือทุกข์อย่างไร
ทุกคนย่อมมีบรรพบุรุษคือ ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ หรือแม่ ที่ท่านเสียชีวิตไปแล้ว แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ทำไมท่านเหล่านั้นจึงไม่มาบอกลูกหลานว่า ขณะนี้เป็นอยู่อย่างไร สุขหรือทุกข์เพียงไหน โดยมากไปแล้วไปเลยไม่ย้อนกลับมาบอกลูกหลานหรือบางท่านอาจเคยฝันเห็นญาติคนนั้นคนนี้ว่า ท่านเป็นอยู่อย่างนี้ๆ ได้พูดคุยกันอย่างนี้ แต่ก็ไม่มีหลักฐานที่พอจะยืนยันให้เชื่อถืออย่างแน่ชัดว่าเป็นจริงอย่างนั้นหรือไม่ อาจเป็นเพราะผู้ฝันนั้นมีจิตกระหวัดถึงใครเป็นพิเศษจนฝังลึกในห้วงจิตใต้สำนึก พอหลับแล้วสัญญาคือความจำในจิตใต้สำนึกนั้น จึงแสดงออกมาเป็นความฝัน ในเรื่องนี้พึงเทียบเคียงกับความฝันว่าได้เห็นภาพสถานที่ที่เคยเล่นหรือเคยเห็นเมื่อตอนวัยเด็กว่าได้ไปเดินหรือวิ่งเล่นตรงโน้นตรงนี้ ทั้งๆ ที่ความจริงสถานที่นั้นเป็นภาพเดิมซึ่งไม่มีอยู่แล้ว เปลี่ยนแปลงใหม่หมดไปตามกาลเวลา แล้วทำไมเราจึงฝันเห็นภาพเก่าๆ อยู่
อนึ่ง คนที่ตายไปหากเกิดเป็นคนหรือสัตว์เดรัจฉานจะมาบอกญาติที่อยู่ข้างหลังได้อย่างไร เนื่องจากสัญญาขันธ์ คือความจำในอดีตชาติมันดับไปแล้ว จึงทำให้ระลึกไม่ได้ แต่มีข้อยกเว้นสำหรับบางคนที่จำอดีตชาติบางตอนของตนได้ หรือผู้ที่ได้บรรลุบุพเพนิวาสนานุสสติญาณ คือระลึกชาติหนหลังได้ เช่น พระพุทธเจ้า เป็นต้น เมื่อกล่าวถึงคนโดยทั่วไป อย่าว่าแต่ระลึกชาติหนหลังเลย ขอเพียงแค่ให้ระลึกเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันของตนที่ผ่านมาเมื่อตอนเช้าของวันนี้ว่า ได้ทำอะไร ได้พูดกับใครว่าอย่างไร พูดไปกี่คำ ได้กินข้าวไปกี่คำ หรือได้เดินไปกี่ก้าว เป็นต้น คงไม่มีใครไปจดจำได้หมดเป็นแน่ เพราะขาดมนสิการ คือความตั้งใจด้วยเหตุที่สติยังมีไม่สมบูรณ์นั่นเอง
หากผู้ตายไปเกิดเป็นสัตว์นรกในภูมินี้จะมีแต่ทุกข์ทรมานไม่มีเวลาช่วงว่างให้คิดถึงหรือไปหาใครได้ง่ายๆ แม้แต่ในโลกมนุษย์หากใครถูกจับกุมคุมขัง ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่งแม้ผู้ถูกจับนั้นจะอ้อนวอนผู้จับว่าขอให้ปล่อยตัวไปชั่วคราวเพื่อไปเยี่ยมญาติหรือบอกลาญาติก่อนเช่นนี้ คงไม่มีใครอนุญาตให้แน่ หรือถ้าไปเกิดในสุคติภูมิ เช่น เป็นเทวดา ภูมินี้เขาจะอิ่มเอมกับความสุขที่เป็นทิพย์ทุกอย่างเพลิดเพลินอยู่กับความสุขนั้นอย่าว่าแต่เทวดาเลย ลองนึกถึงตัวเราเองเป็นเกณฑ์ก่อนก็ได้ว่า คราใดที่เรากำลังรู้สึกดื่มด่ำกับความสุขอย่างใดอย่างหนึ่งมากเหลือล้น ในขณะนั้นเราจะคิดถึงคนโน้น อยากไปเยี่ยมคนนี้บ้างไหม
ท่านเปรียบคนที่ไปเกิดเป็นเทวดาเหมือนบุรุษผู้หนึ่งเดินไปตกบ่ออุจจาระและเปื้อนอุจจาระไปทั้งตัว แล้วมีคนมาช่วยเขาให้ขึ้นจากบ่อนั้นพาไปอาบน้ำชำระล้างร่างกายจนสะอาดดีแล้ว มีเสื้อผ้าใหม่สวยงามราคาแพงให้สวมใส่แล้วพากันแห่แหนให้อยู่บนปราสาทอันสวยงาม มีอาหารอันประณีตให้บริโภค พร้อมมีหญิงสาวสวยหลายนางมาคอยปรนนิบัติพัดวีรับใช้ หากจะถามชายผู้นั้นว่า อยากลงไปแช่อยู่ในบ่ออุจจาระเหมือนเดิมไหม ชายผู้นั้นคงตอบไม่อยากไปเป็นแน่ เพราะเขากำลังเพลิดเพลินอยู่กับความสุข
อุปมานี้ฉันใดพวกเทวดาทั้งหลายเขาก็รู้สึกฉันนั้น คือ เทวดาชั้นสูงจะรู้สึกรังเกียจและเหม็นสาปกลิ่นมนุษย์ที่สร้างแต่บาปอกุศลกันเป็นส่วนใหญ่ไม่ต้องการเข้าใกล้ ข้อนี้จะเห็นตัวอย่างที่พวกเทวดามาทูลถามปัญหากับพระพุทธเจ้าต้องเป็นเวลาหลังเที่ยงคืนไปแล้วเท่านั้น และจัดเป็นพุทธกิจหนึ่งในพุทธกิจ ๕ คือ แก้ปัญหาเทวดาด้วย ทั้งนี้เพราะเทวดาต้องรอให้มนุษย์หลับกันหมดก่อน ไม่มาพลุกพล่านให้เป็นที่เหม็นสาบของพวกเขานั่นเอง
ความตายเป็นเรื่องธรรมชาติ
ความตายเป็นธรรมชาติที่ทุกคนไม่สงสัยว่าตัวเองจะตายหรือไม่ เพราะรู้โดยสัญชาตญาณ และมีบุคคลอื่นตายให้เห็นเป็นประจักษ์พยานอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ส่วนใหญ่มักคาดการณ์รู้ว่าสักวันหนึ่งสภาพนี้ต้องมาถึงลำดับตนบ้าง แต่ที่ทุกคนมักไม่ค่อยคิดถึงความตายของตนเองเท่าใดนัก เป็นเพราะความประมาทมัวเมาในชีวิต ในความไม่มีโรคและในความเป็นหนุ่มสาวของตนเป็นสำคัญ จึงทำให้ลืมนึกถึงความตายเช่นนี้ ถือว่าไม่ดีเลยเป็นความประมาทอย่างยิ่ง ใครเล่าที่จะรู้ว่าความตายจะมาถึงตนในวันพรุ่งนี้ คนที่จะเดินทางไกลเขายังต้องเตรียมเสบียงหรืออุปกรณ์ปัจจัยต่างๆ เพื่อความสะดวกสบายในการเดินทาง แต่การเดินทางของชีวิตไปสู่ปรโลกนั้น สำคัญยิ่งกว่าอะไรทั้งหมด ไม่มีใครมาช่วยใครได้ นอกจากตนของแต่ละคนที่จะแสวงหาเกาะอันเป็นที่พึ่ง หรือเสบียงเดินทางไปภพเบื้องหน้าเอง สิ่งนั้นคือ บุญ
อายุของมนุษย์นี้น้อยนัก คนดีไม่พึงดูหมิ่นอายุนั้น พึงรีบประพฤติความดีปานดั่งคนมีศรีษะอันไฟติดทั่วแล้ว เพราะความตายจะไม่มาถึงไม่มี หากผู้ใดได้ตระหนักถึงความจริงแห่งชีวิตหรืออายุตามที่กล่าว จะเกิดความไม่ประมาทแล้วเร่งรีบบำเพ็ญเพียร สร้างเกาะอันเป็นที่พึ่งสำหรับตน เช่นนี้ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ตายแล้วไปไหน
ที่มา: https://www.bp.or.th/webboard